Home » คณะกรรมการความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน

คณะกรรมการความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน

by blogadmin
318 views
1.คณะกรรมการความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน

คณะกรรมการความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน หรือ คปอ.

คณะกรรมการหนึ่งในสถานประกอบกิจการที่มีความสำคัญที่จะทำให้พนักงานทุกคนนั้นเกิดความปลอดภัยในการทำงานและได้กลับบ้านอย่างปลอดภัย คือ คณะกรรมการความปลอดภัย หรือ คปอ. วันนี้เราจะมาพูดถึงว่า คปอ นั้นคืออะไร และจะต้องเรียนหรืออบรมอะไรถึงจะได้เป็นได้อย่างถูกต้องตามที่กฎหมายกำหนด

ชื่อหลักสูตร คปอ. คือ หลักสูตรการอบรมคณะกรรมการความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงานของสถานประกอบกิจการ

วัตถุประสงค์การอบรม คปอ.

  1. เพื่อให้คณะกรรมการความปลอดภัยฯ มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการบริหารคณะกรรมการความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงานของสถานประกอบกิจการอย่างมีประสิทธิภาพ
  2. เพื่อให้คณะกรรมการความปลอดภัยฯ มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับกฎหมายความปลอดภัยในการทำงาน
  3. เพื่อให้คณะกรรมการความปลอดภัยฯ มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับบทบาทหน้าที่ของคณะกรรมการความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงานของสถานประกอบกิจการ
  4. เพื่อให้คณะกรรมการความปลอดภัยฯ สามารถนำองค์ความรู้ที่ได้อบรมไปประยุกต์ใช้งานได้อย่างเหมาะสมกับองค์กรของตนเอง

เนื้อหา

มีระยะเวลาการฝึกอบรม 12 ชั่วโมง ประกอบด้วย 3 หมวดวิชา ดังต่อไปนี้

หมวดวิชาที่ 1 การบริหารคณะกรรมการความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงานของสถานประกอบกิจการอย่างมีประสิทธิภาพ ระยะเวลา 3 ชั่วโมง ประกอบด้วยหัวข้อวิชา ได้แก่

  • (ก) แนวคิดระบบการจัดการความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน
  • (ข) การพิจารณาแผนงานและโครงการความปลอดภัยในการทำงานและความปลอดภัยนอก
    งาน

หมวดวิชาที่ 2 กฎหมายความปลอดภัยในการทำงาน

ระยะเวลา 1 ชั่วโมง 30 นาที ประกอบด้วยหัวข้อวิชา ได้แก่

  • (ก) กฎกระทรวงกำหนดมาตรฐานในการบริหารและการจัดการด้านความปลอดภัย
    อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน พ.ศ. 2549
  • (ข) สาระสำคัญของกฎหมายความปลอดภัยในการทำงานที่เกี่ยวข้อง

หมวดวิชาที่ ๓ บทบาทหน้าที่ของคณะกรรมการความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงานของสถานประกอบกิจการ

ระยะเวลา 7 ชั่วโมง 30 นาที ประกอบด้วยหัวข้อวิชา ได้แก่

  • (ก) การควบคุมและป้องกันการประสบอันตรายจากการทำงาน
  • (ข) การสำรวจความปลอดภัย
  • (ค) การจัดทำข้อบังคับ คู่มือและมาตรฐานด้านความปลอดภัยในการทำงาน
  • (ง) การวางระบบการรายงานสภาพการทำงานที่ไม่ปลอดภัย
  • (จ) การประเมินผลการดำเนินงานด้านความปลอดภัยในการทำงาน
  • (ฉ) การประชุมและการติดตามงาน

วิธีการอบรม

  1. การบรรยาย
  2. กรณีศึกษาจากวีดีทัศน์
  3. Workshop
  4. การสอบประเมินความรู้ความเข้าใจก่อน-หลัง

ระยะเวลาอบรม

2 วัน (12 ชั่วโมง)
**หลังจบการอบรมจะได้รับวุฒิบัตร ทันที**

ผู้เข้าอบรม

2.ผู้เข้าอบรม มีหน้าที่เป็นคณะกรรมการความปลอดภัย

พนักงานผู้มีหน้าที่เป็นคณะกรรมการความปลอภัย อาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในสถานประกอบการและได้รับการแต่งตั้งจากนายจ้างให้ทำหน้าที่คณะกรรมการความปลอดภัยในการทำงานทุกคน

คปอ. ของสถานประกอบกิจการ มีองค์ประกอบเป็นทวิภาคี ประกอบด้วย นายจ้างหรือผู้แทนนายจ้างระดับบริหาร เป็นประธานกรรมการ มีผู้แทนนายจ้างระดับบังคับบัญชา และมีผู้แทนลูกจ้างที่ได้รับการเลือกตั้งจากลูกจ้างในสถานประกอบกิจการ โดยอาจมี จป. ระดับเทคนิคขั้นสูง หรือ จป. ระดับวิชาชีพ เป็นกรรมการและเลขานุการ ซึ่งทุกคนที่ได้รับการแต่งตั้งจะต้องผ่านการอบรม คปอ. ของสถานประกอบกิจการมี

บทบาทหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดในการดำเนินการบริหารจัดการด้านความปลอดภัยฯ ของสถานประกอบกิจการ เพื่อการป้องกันการประสบอันตรายจากการทำงานและลดความสูญเสีย บทบาทหน้าที่หลัก ได้แก่ การพิจารณานโยบายและแผนงาน การรายงานเสนอแนะมาตรการการส่งเสริมสนับสนุนกิจกรรมต่างๆ การพิจารณาข้อบังคับและคู่มือ การสำรวจความปลอดภัยและตรวจสอบสถิติการพิจารณาโครงการหรือแผนงานฝึกอบรมการวางระบบการรายงานสภาพการทำงานที่ไม่ปลอดภัย การประชุมและติดตามผลความคืบหน้าเรื่องต่างๆ การประเมินผลงานด้านความปลอดภัยฯ

ดังนั้น หากนายจ้างหรือผู้ประกอบกิจการให้การสนับสนุนและส่งเสริมอย่างจริงจังในการดำเนินการด้านความปลอดภัยฯ ดังกล่าวข้างต้นของคปอ. นอกจากจะช่วยลดการประสบอันตรายและความสูญเสียหรือค่าใช้จ่ายที่จะเกิดขึ้นเป็นจำนวนมากแล้วยังเป็นการลดต้นทุนในการผลิตอีกทางหนึ่ง เพราะการทำงานอย่างปลอดภัยนอกจากจะเป็นการป้องกันอุบัติเหตุในตัวแล้วยังก่อให้เกิดประโยชน์ คือ

  • ผลผลิตเพิ่มขึ้น เพราะลูกจ้างมีความรู้สึกปลอดภัยความหวาดกลัวหรือวิตกกังวลก็ลดลง จึงมีความมั่นใจและทำงานได้เต็มที่และรวดเร็วยิ่งขึ้น ผลผลิตรวมของสถานประกอบกิจการจึงเพิ่มขึ้นด้วย
  • ต้นทุนการผลิตลดลงเมื่ออุบัติเหตุและความสูญเสียหรือค่าใช้จ่ายสำหรับอุบัติเหตุ ลดน้อยลง ทำให้สถานประกอบกิจการประหยัดค่ารักษาพยาบาล ค่าเงินเข้ากองทุนเงินทดแทนค่าซ่อมเครื่องจักรอุปกรณ์เป็นต้นซึ่งค่าใช้จ่ายต่างๆ เหล่านี้จะเป็นส่วนหนึ่งของต้นทุนการผลิตทั้งหมดเมื่อไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายส่วนนี้ต้นทุนการผลิตจึงลดลงได้
  • กำไรมากขึ้น เมื่อผลผลิตสูงขึ้นและต้นทุนการผลิต ต่ำลงแล้ว ดังกล่าว โอกาสที่สินค้าจะแข่งขันด้านราคาในท้องตลาดก็สูงขึ้นด้วยเป็นเหตุให้สถานประกอบกิจการได้กำไรมากขึ้น
  • สงวนทรัพยากรมนุษย์ เมื่อเกิดอุบัติเหตุทุกครั้งมักจะทำให้ลูกจ้างบาดเจ็บพิการทุพพลภาพหรือตายทำให้สูญเสียทรัพยากรที่สำคัญไปโดยเฉพาะเป็นแรงงานที่มีฝีมือ มีความชำนาญ นอกจากนี้ความพิการหรือทุพพลภาพยังเป็นภาระของญาติพี่น้องหรือสังคมด้วย ดังนั้น การทำให้สภาพการทำงานมีความปลอดภัยจึงเป็นการสงวนทรัพยากรมนุษย์
  • สร้างแรงจูงใจ ความปลอดภัยในการดำรงชีวิตและการทำงานเป็นความต้องการพื้นฐานของมนุษย์ตามทฤษฎีการจูงใจของ มาสโลวส์ (maslow Motivation Theory) การจัดสภาพการทำงาน ให้ความปลอดภัยจึงเป็นเครื่องมือในการบริหารงานอย่างหนึ่งเป็นการจูงใจให้ลูกจ้างมีความ อยากทำงานมากขึ้น

7 ความสำคัญของ คปอ.

3.7 ความสำคัญของ คปอ.

  1. ประธานคณะกรรมการ คือ นายจ้างหรือผู้แทนนายจ้างระดับบริหาร องค์ประกอบของคณะกรรมการ เป็นทวิภาคี มีผู้แทนนายจ้างระดับผู้บังคับบัญชา ได้รับการแต่งตั้ง และผู้แทนลูกจ้าง นายจ้างจัดให้มีการเลือกตั้งมีบทบาทและหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดชัดเจน ตามมาตรา 25
  2. มีการสำรวจการปฏิบัติการด้านความปลอดภัยฯ ในสถานประกอบกิจการตนเองอย่างน้อยเดือนละหนึ่งครั้ง ตามมาตรา 25 (5)
  3. มีการประชุม คปอ. อย่างน้อยเดือนละหนึ่งครั้ง ตามมาตรา 27
  4. คณะกรรมการฯ ได้รับการอบรมเกี่ยวกับบทบาทและหน้าที่ตามกฎหมาย ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่อธิบดีประกาศกำหนด ตามมาตรา 28
  5. นายจ้างต้องพิจารณา และดำเนินการตามมติหรือข้อเสนอแนะของคณะกรรมการฯ ที่ปรานกรรมการเสนอโดยมิชักช้า ตามมาตรา 30
  6. นายจ้างต้องสนับสนุนและส่งเสริมการปฏิบัติหน้าที่ของกรรมการ และ จป. ทั้งในหน้าที่ประจำและหน้าที่ในฐานะกรรมการ
  7. นายจ้างปิดประกาศมติของที่ประชุมคณะกรรมการฯ เกี่ยวกับความปลอดภัยฯ ไว้ในที่เปิดเผย เพื่อให้ลูกจ้างทราบภายใน 7 วัน นับแต่วันที่ประชุม

เกี่ยวกับเรา

babcn logo

แหล่งรวมความรู้เกี่ยวกับความปลอดภัยในการทำงาน มีข้อมูลที่ครอบคลุมทุกประเด็น ตามที่คุณต้องการ

@2023 – All Right Reserved. Designed and Developed by Babcn